WILDERNESS SURVIVAL

ผจญภัยอย่างไรให้รอด กลับบ้านปลอดภัย

เวลาที่เนิ่นนานผ่านมา เปลี่ยนคนส่วนใหญ่ให้มีวิถีชีวิตแบบชุมชน มีบ้าน ที่อยู่อาศัย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในเมือง เราสูญเสียทักษะในการดำรงชีวิตในธรรมชาติไปแล้ว การผจญภัยในธรรมชาติของเราคือการท่องเที่ยว เรียนรู้ ปฎิบัติหน้าที่ พักผ่อน ออกกำลังกาย การหวังที่จะมีช่วงเวลาที่ดีก่อนจะกลับบ้าน แต่บางครั้งเหตุการณ์ก็ไม่เป็นอย่างที่คิด

 

 

อุบัติเหตุที่ร้ายแรงหลายๆ ครั้ง เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวผจญภัยในธรรมชาติใกล้ๆ และการเดินทางแบบ 1 วัน เพราะความคิดที่ว่า “ไปแค่นี้เอง เดี๋ยวก็กลับ” ทำให้ขาดการเตรียมตัวที่ดีเมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่น ภัยธรรมชาติหรือการบาดเจ็บทางร่างกาย

 

Jessie Krebs อดีตครูสอน U.S. Air Force SERE (Survival, Evasion, Resistance, and Escape) และยังเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนที่ SERE Training School แชร์ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวและการเอาตัวรอดจากธรรมชาติ ได้พูดไว้ในคอร์ส Wilderness Survival จาก masterclass.com โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจแนวคิดหลักในการเตรียมตัวก่อนที่จะเดินทาง

 

 

สิ่งจำเป็นพื้นฐาน 5 อย่าง (The five basic needs) คือสิ่งที่ Jessie Krebs บอกว่าถ้าเราทำความเข้าใจและจำมันได้เมื่อเกิดสถานการณ์คับขัน เราจะมีสติพอที่จะแก้สถานการณ์ตรงหน้าได้อย่างมีระบบ 5 อย่างที่ว่ามีอะไรบ้างที่จะทำให้เรา “กลับบ้านปลอดภัย” เรามาดูกันเลยครับ

 

 

 

Signaling  คุณอาจจะคิดว่าการที่ต้องติดอยู่ในป่าหรือที่ห่างไกลสิ่งที่คุณต้องการอย่างแรกคือน้ำดื่มหรือกองไฟ คุณคิดผิด สิ่งเหล่านั้นสำคัญรองลงไป เพราะความจริงคือเราไม่ต้องการจะอยู่ที่นี่ต่อไปแล้ว เราต้องการจะออกไปจากที่นี่ให้เร็วที่สุด สิ่งสำคัญที่สุดอันดับหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เลวร้ายได้คือการส่งสัญญาณและขอความช่วยเหลือ เมื่อเกิดจุดเปลี่ยนในการเดินทางของคุณจากความสนุกกลายเป็นความตกใจ วิตกกังวล คุณอาจจะหลงทาง พลัดตกจากหน้าผาหรือขาหัก พายุถล่ม ในใจคุณคิดว่าชั้นอยากจะกลับบ้านเดี๋ยวนี้ สิ่งจำเป็น 5 ข้อนั้นสำคัญหมด แต่จงใช้ทุกโอกาสที่มีในการส่งสัญญาณและขอความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก  เจสซี่แบ่งการส่งสัญญาณออกเป็น ประเภทหลักๆ ได้แก่

 

1. Electronic  อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ บีคอน อุปกรณ์ใดๆ ที่ส่ง สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์บอกตำแหน่งได้

2. Pyrotechnic  อุปกรณ์อย่างแฟลร์ หรือไฟที่เราจุดเพื่อให้เกิดควันสีขาวหรือสีดำ

3. Ground to air  กระจกให้สัญญาณ ผ้าสีสดที่เราปูวางกับพื้น หรือบางอย่างที่ทำให้น้ำเปลี่ยนสีได้

4. Whistle  นกหวีดหรือสิ่งที่ทำให้เกิดเสียง ที่จะมีประโยชน์ในพื้นที่ใกล้ๆ

 

 

Personal Protection  การดูแลตัวคุณ สิ่งที่เจสซี่ให้ความสำคัญในข้อนี้ คือการรักษาอุณหภูมิของร่างกาย โดยแบ่งออกเป็น 3 ข้อตามความสำคัญ

1. Clothing and equipment  ต้องมั่นใจว่ามีเสื้อผ้า และอุปกรณ์อย่างถุงนอนที่เหมาะสมเพียงพอ

อุปกรณ์อย่างถุงนอนอาจจะดูไม่ค่อยจำเป็นสำหรับอากาศร้อนแบบบ้านเรา แต่การติดตัวไว้ ถ้าไม่เกิดเหตุจำเป็น เราก็ยังใช้ปูรองนอนเป็นเตียงนุ่มๆ ได้

 

 

 

2. Shelter  ถ้าอุปกรณ์ในข้อแรกยังไม่เพียงพอ สิ่งที่สองที่จะปกป้องเราได้คือที่พัก ที่พักในที่นี้อาจจะ เป็นแค่ถุงขยะหรือบีวี่ แซค ที่เราสามารถเข้าไปซุกตัวอยู่ได้ อาจจะใส่ด้วยเศษกิ่งไม้ ใบไม้ ด้วยหลักการคือทำให้เราอบอุ่น ไม่เปียกถ้าฝนตก ไปจนถึงทาร์ปหรือเต็นท์ เจสซี่บอกว่าถ้าเราเปรียบเทียบกับสัตว์โดยทั่วไปแค่สองข้อนี้ก็ทำให้เราอยู่รอดได้แทบทุกที่บนโลกแล้ว เพราะสัตว์ทั้งหลายสามารถอยู่รอดบนโลกนี่ได้โดยไม่มีข้อที่ 3

 

 

3. Fire ไฟมีความสำคัญ หลายครั้งที่เส้นแบ่งความอยู่รอดกับความตายก็ขึ้นอยู่กับไฟ แต่เจสซี่ไม่อยากให้เราคิดว่าไฟคือความจำเป็นอันดับแรก เค้าได้เล่าถึงเคสของนักเดินทางล่าสัตว์คนหนึ่งที่เดินทางไปในพื้นที่ที่คุ้นเคย เค้ามี GPS เข็มทิศ กับของอีกเล็กน้อย เค้าบอกกับภรรยาว่าจะกลับมาในอีก 2 วัน เค้าจอดรถไว้แล้วเดินทางเข้าไป ปรากฏว่ามีหิมะตกหนักปกคลุมหนาจนไม่เห็นเส้นทางที่จะกลับมาที่รถได้ชัดเจนซึ่งอยู่ห่างไปไม่ไกล ประมาณแค่ 2 กิโลเมตรกว่าๆ หลังจากความพยายาม 2 ครั้ง เค้าตัดสินใจที่จะก่อกองไฟและพักอยู่ในป่าในคืนแรก

 

เช้าวันที่สองเค้าพยายามที่จะกลับมาที่รถอีกครั้งโดยเดินทางเป็นเส้นตรงมาที่ที่คาดว่ารถจะจอดอยู่ ปรากฏว่าเค้าตกลงในบึงเล็กๆ ระดับน้ำประมาณเอว หิมะยังคงตกและอุณหภูมิก็ลดลง จาก GPS ของเค้า เค้ารีบออกเดินทางตรงกลับมายังจุดที่ก่อกองไฟไว้เมื่อคืนก่อน ไฟดับไปแล้ว ทีมกู้ภัยพบร่างของเค้าอยู่ข้างจุดที่ก่อกองไฟ พยายามเอาดินปืนออกจากกระสุนเพื่อจุดไฟ เค้าเสียชีวิตด้วยอาการไฮโปเธอร์เมีย (Hypothermia) ขณะที่พยายามจะจุดไฟ

 

เจสซี่บอกว่าถ้าเค้าเปลี่ยนจากออกเดินกลับมาที่กองไฟทั้งที่ตัวเปียกและอุณหภูมิร่างกายลดลงเรื่อยๆ เป็นการรีบทำให้เสื้อผ้าที่เค้าใส่อยู่แห้งที่สุด รีบหาที่ซุกตัวเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อให้ร่างกายอุ่นขึ้น เมื่อรู้สึกอุ่นขึ้นแล้วค่อยหาทางจุดไฟน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

 

 

Sustenance  น้ำและอาหาร น้ำดื่มเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับร่างกายของเราอย่างที่ทุกๆ คนรู้กัน คนเราสามารถอยู่โดยไม่มีน้ำได้ประมาณ 3 วันหรืออาจมากหรือน้อยกว่านั้นแล้วแต่บุคคล ส่วนอาหารนั้นสำคัญรองลงไปมาก เราสามารถอยู่โดยไม่กินอะไรได้นานหลายสัปดาห์ และที่สำคัญคือถ้าเราไม่สามารถหาน้ำดื่มได้เราก็ไม่ควรกินอาหาร เนื่องจากกระบวนการย่อยอาหารนั้นจำเป็นต้องใช้น้ำ ถ้าเรากินโดยไม่มีน้ำดื่มจะทำให้ร่างกายเกิดสภาวะขาดน้ำ (dehydrate) ได้เร็วขึ้น

Camp Kitchen

 

 

Snow Peak

Outlery Cutley Set

 

 

 

PDW Expedition Watch Band Compass Kit

Explore / Navigation  เทคนิคในการเดินทางและการนำทาง หลายๆ สถานการณ์อาจทำให้คุณไม่สามารถเดินทางต่อได้ง่ายนักเช่นอุบัติเหตุขาหัก เกิดเหตุฉุกเฉิน สภาพอากาศเลวร้ายมาก แต่การที่เรามีความรู้ในเรื่องการเดินทางหรือนำทางที่ดีพอเพื่อจะนำเราเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งอื่นอย่างปลอดภัยก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญ การเรียนรู้แผนที่ การใช้เข็มทิศ เทคนิคการสังเกตทิศทางจากธรรมชาติ การเคลื่อนที่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน เช่นขึ้นลงเส้นทางที่เป็นผาชัน ไปจนถึงการใช้ไม้พยุงเดินหรือเทรคกิ้งโพลอย่างถูกต้องก็เป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้

 

 

Health  การดูแลสุขภาพเริ่มจากสุขภาพจิต (Mental Health) พยายามผ่อนคลายไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป การดูแลความสะอาดของร่างกาย (Hygiene) เพราะเราไม่ต้องการป่วยในสถานการณ์แบบนี้ การล้างมือให้สะอาดเพื่อป้องกันเชื้อโรคปนเปื้อนการจากกินอาหาร การดูแลรักษาแผลให้สะอาดไม่ติดเชื้อ การที่เราดูแลตัวเองได้ดีก็จะช่วยในเรื่องของอารมณ์และความคิดได้ดีขึ้น

 

สุดท้ายคือการปฐมพยาบาลเบื้องต้น (First Aid) การเข้าอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้นมีประโยชน์ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว และถ้าคุณเป็นคนชอบเข้าป่า ผจญภัย การเข้าอบรมหลักสูตรปฐมพยาบาลในถิ่นธุรกันดาร Wilderness First Aid หรืออบรมผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น First-responder course ก็จะทำให้คุณมีความมั่นใจมากขึ้น

 

 

ในช่วงเวลาที่ยังออกไปผจญภัยไม่ได้ การเรียนรู้ทักษะการเอาตัวรอดในป่าไว้บ้างก็จะช่วยให้เรามั่นใจ และสนุกกับการผจญภัยในครั้งต่อไปได้มากขึ้นนะครับ

#wildernesssurvival

#Wilderness

#campinglife